ประกันปิดตัวไม่ได้ไปต่อ ลูกค้าอย่างเราทำอะไรได้บ้าง?

26 ธันวาคม ค.ศ. 2023 โดย
Administrator 2

ประกันปิดตัวไม่ได้ไปต่อ ลูกค้าอย่างเราทำอะไรได้บ้าง?

          ​เหตุการณ์บริษัทประกันภัยได้รับคำสั่งฟื้นฟูกิจการ (หรือมีความเสี่ยงในการเลิกกิจการ) แม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วเกิดความกังวลต่อหลายฝ่ายทั้งตัวบริษัทประกันภัยเอง พนักงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประกันภัย รวมไปถึงลูกค้าที่ใช้บริการด้านประกันภัยกับทางบริษัทอยู่ สำหรับปลายปีนี้มีประกาศสำคัญออกมาอีก 1 เจ้าเซ่นพิษเคลมประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยอย่าง บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้รับคำสั่งให้หยุดรับประกันภัย เนื่องจากการพิจารณาของศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกฟื้นฟูกิจการ และบริษัทมีหนี้สินสูงกว่าทรัพย์สิน หลังจากดำเนินธุรกิจด้านการบริการรับประกันวินาศภัย มาตั้งแต่ปี 2494 หรือกว่า 70 ปี
          ​
          ​สำหรับเหตุการณ์ของ บมจ.สินมั่นคง นั้น นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทิพยประกันภัย และนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่าตอนนี้ทางบริษัทสินมั่นคงยังมีเวลาอีก 60 วันในการทำแผนเพิ่มทุนตามที่ คปภ. กำหนด และทางบริษัทฯ มีการดำเนินการผ่องถ่ายพนักงานไปยังบริษัทประกัน รวมถึงอาจมีการนำพอร์ตประกันภัยบางส่วนไปให้บริษัทประกันภัยอื่นบริหารต่อ
          


          สกู๊ปวันนี้จึงนำแนวทางการรับมือในฐานะผู้บริโภคที่พบว่าบริษัทประกันภัยที่เราใช้บริการอยู่นั้น ประสบปัญหาต้องฟื้นฟูกิจการ หรือมีคำสั่งให้หยุดรับประกันภัยจะต้องทำอย่างไรเพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง และยังได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ที่ได้ซื้อไว้แล้ว โดยแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่ทำประกันภัยไว้แล้วยังไม่มีเคลมความเสียหาย และกลุ่มที่ทำประกันภัยไว้แล้วกำลังมีเหตุให้ต้องเคลม
          
           1. ทำประกันไว้ แต่ยังไม่มีเคลม
          ติดตามข่าวสารจากทางบริษัทฯ เพื่อรับทราบความเปลี่ยนแปลงของทางบริษัทฯ เอง รวมถึงสิทธิของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป การที่บริษัทประกันวินาศภัยเลิกกิจการนั้นการเลิกกิจการจะไม่สำเร็จในทันที ด้วยมีหลักเกณฑ์เพื่อประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยให้เรียบร้อยก่อน เช่น การโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น ๆ เพื่อได้รับความคุ้มครองแทน โดยเทียบเท่าหรือไม่น้อยกว่าความคุ้มครองเดิมที่มีอยู่ หรือในกรณีที่มีการเลิกกิจการ หรือถูกสั่งปิดขึ้นจริง หากประสงค์รับเบี้ยประกันภัยคืน สามารถติดต่อขอรับเบี้ยประกันภัยคืนจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนจะคืนเบี้ยประกันภัยให้ตามสัดส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่ 



          2. ทำประกันไว้ มีเคลม
          ดังเนื้อหาก่อนหน้านี้ การเลิกกิจการจะไม่สำเร็จในทันที หากเกิดเหตุให้ต้องเคลมตามความคุ้มครองที่ได้ทำประกันไว้ยังคงเรียกร้องสินไหมจากบริษัทประกันนั้นได้ จึงสามารถแจ้งเรื่องไปยังบริษัทประกันภัยตามช่องทางการติดต่อของบริษัทประกันภัยก่อนเพื่อรับทราบรายละเอียดการเคลม หรือข้อมูลด้านการโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันวินาศภัยอื่นเพื่อดูแลความคุ้มครองต่อจากบริษัทฯ เดิม 

          กรณีที่มีเคลมหลังจากบริษัทเลิกกิจการ หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกัน ไม่สามารถเคลมได้ติดต่อไปยัง กองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีหรือจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกัน โดยกองทุนจะเข้ารับช่วงจ่ายสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย


          กองทุนประกันวินาศภัย หรือ กปว. คือ กองทุนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับชำระหนี้ ที่เกิดจากการเอาประกันภัยในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ ติดต่อ กองทุนประกันวินาศภัย เลขที่ 1010 อาคารชินวัตร ทาวเวอร์ 3 ชั้น 15 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. 0-2791-1444 อีเมล์ : [email protected] เว็บไซต์ : www.gif.or.th


          สำหรับเหตุการณ์ของ บมจ. สินมั่นคง นั้น นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้กล่าวในวันที่ 16 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมาว่า การที่บริษัทสินมั่นคงถูกสั่งระงับการขายกรมธรรม์ใหม่ชั่วคราว ไม่ใช่การปิดบริษัท บริษัทยังสามารถดำเนินกิจการตามปกติ ไม่ให้กระทบกับลูกค้า แต่มีเจ้าหน้าที่ คปภ.ที่เข้าไปควบคุมกิจการและทรัพย์สินของทางสินมั่นคง ควบคุมรายจ่าย สินทรัพย์ และให้ใช้จ่ายเฉพาะรายการที่จำเป็น ประชาชน ที่มีการซื้อประกันกับสินมั่นคงไว้ จะยังคงได้รับความคุ้มครองตามสัญญาที่กำหนดทุกประการ และสามารถเข้าไปเรียกเคลมกับบริษัทได้ตามปกติ เช่น ลูกค้าประกันภัยรถยนต์ หากเกิดเหตุสามารถเรียกเจ้าหน้าที่บริษัทมาทำเคลมได้ตามปกติ อู่รถยนต์ สามารถยื่นเรื่องขอเบิกจ่ายเงินค่าซ่อมได้เช่นเดิม แต่ต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ คปภ.



         3. เคลมไม่สะดวก ไม่ได้รับความเป็นธรรม
          เพิ่มเติมให้อีกข้อ ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อประสานงานกับบริษัทประกันภัย หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถ ยื่นข้อร้องเรียนด้านการประกันภัยได้ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. รวมถึงสำนักงาน คปภ. ภาค เขต หรือจังหวัดได้ทั่วประเทศ หรือสามารถแจ้งและสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วน คปภ. หมายเลข 1186 
          
          สำหรับท่านที่กำลังมองหาบริการด้านประกันภัยครบวงจร หรือรับบริการด้านประกันภัยรถยนต์ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัยของ TT Insurance Broker ช่องทางการติดต่อ Facebook page: TT Insurance Broker, Line official @TTIB, www.ttib.co.th หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-4848 วันจันทร์-ศุกร์ในเวลาทำการ 08.30-17.00 น.


ที่มา 
https://www.dailynews.co.th/news/3008403/
https://www.finnomena.com/channel/pocketmoney-ep39-covidinsurance/
https://www.gif.or.th/
https://www.thaipbs.or.th/news/content/334970

แชร์โพสต์นี้

To install this Web App in your iPhone/iPad press and then Add to Home Screen.

Added to cart