ส่องสาเหตุร้ายทำลายปอด มะเร็งตัวท็อปของคนไทย

13 ธันวาคม ค.ศ. 2023 โดย
Administrator 2


ส่องสาเหตุร้ายทำลายปอด มะเร็งตัวท็อปของคนไทย

          ถือเป็นการสูญเสียที่ทำเอาใครหลายคนสะเทือนใจไปตามกัน สำหรับกรณีของคุณหมอกฤตไท ที่พบว่าป่วยด้วย ‘โรคมะเร็งปอด’ ระยะสุดท้ายและเพิ่งเสียชีวิตลง หลังจากตรวจพบอาการป่วยไม่นานและที่สำคัญพฤติกรรมด้านการดูแลสุขภาพของคุณหมอถือว่าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นผู้ป่วยได้ตามเคสปกติทั่วไป อย่างไรก็ตามก่อนจากไปคุณหมอได้ฝากแง่คิดเรื่องการใช้ชีวิต และการดูแลรักษาตัวในวาระสุดท้ายเอาไว้มากมายผ่านเพจและหนังสือ ‘สู้ดิวะ’ หากใครที่อยากทราบแนวคิดและการต่อสู้ต่อโรคร้ายของคุณหมอก็ยังสามารถไปติดตามกันได้ ส่วนสกู๊ปของ ‘ทีทีไอบี’ ในวันนี้ ขอนำสาเหตุของโรคมะเร็งปอดที่อาจทำให้ชีวิตของคนธรรมดา ๆ ไม่ได้มีความเสี่ยงเปลี่ยนไปตลอดกาล มานำเสนอให้กับทุกคนระมัดระวังและตระหนักถึงสาเหตุเสี่ยงและการเลี่ยงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดเป็นมะเร็งปอดได้ครับ

lung cancer cause prevent

          สำหรับ ‘มะเร็งปอด’ เป็นโรคไม่ติดต่อ แต่เป็นภัยเงียบ ๆ ที่ฟูมฟักอยู่ในร่างกายของมนุษย์ กว่าจะรู้ตัวก็ร้ายแรงและสายเกินกว่าจะควบคุม มะเร็งปอดเกิดจากการเติบโตของเซลล์ภายในปอดผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ โดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่ปอด บริเวณต่าง ๆ เช่น ถุงลม หลอดลมใหญ่ใกล้ขั้วปอด แขนงปอด ก่อนที่เจ้าก้อนเซลล์ผิดปกติหรือเนื้อร้ายนี้จะขยายไซส์ขึ้น เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ลุกลามการแพร่กระจายไปยังอวัยวะโดยรอบ จนไปขัดขวางการทำงานของอวัยวะระบบต่าง ๆ ของร่างกาย 
มะเร็งปอดมี 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

1. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) เป็นมะเร็งชนิดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และมีระยะของโรค 2 ระยะเท่านั้น คือ ระยะจำกัด และระยะลุกลาม มักพบบริเวณใกล้ขั้วปอดมากกว่าบริเวณชายปอด มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กนี้อาจสร้างสารเคมีที่ทำให้เกิดความผิดปกติของต่อมไร้ท่อได้ด้วย สำหรับมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กแม้ว่าจะพบประมาณร้อยละ 10-25 ของมะเร็งปอดทั้งหมด แต่ว่าโอกาสหายขาดยังอยู่ในอัตราต่ำ โดยสามารถรักษาด้วยวิธีการเคมีบำบัด และรังสีรักษา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

2. มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) เป็นมะเร็งที่มีระยะเวลาการเติบโต ขยายตัวช้ากว่ามะเร็งชนิดเซลล์เล็ก ทำให้มีโอกาสตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มต้นได้เร็วกว่า ซึ่งหากพบในระยะแรกทำให้การรักษาทำได้ดีขึ้นและมีโอกาสหายขาดได้ โดยการรักษาผ่านการผ่าตัด การรักษาร่วมกับการเคมีบำบัด รังษีรักษา และการรักษาเสริมอื่น ๆ ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มี 4 ระยะด้วยกัน เริ่มจากก้อนมะเร็งที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย จนไปสู่ระยะที่เซลล์โตขึ้น และมีการแพร่กระจายออกจากปอด (หรือจุดเริ่มต้น) มากขึ้น มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กพบได้ประมาณร้อยละ 85-90 ของมะเร็งปอดทั้งหมด
เอาละครับ เชื่อว่าพอจะรู้จักกับเจ้ามะเร็งปอดกันเบื้องต้นแล้ว แล้วอะไรกันนะที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เราเผชิญกับโรคมะเร็งปอด? ในทางการแพทย์แล้วในปัจจุบันไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจน เป๊ะ ๆ ที่ก่อให้เกิดโรค แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่บั่นทอนการทำงานของปอด และเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคมะเร็งปอดได้ ดังปัจจัยต่อไปนี้ครับ

lung cancer cause prevent

          1. บุหรี่ และควันบุหรี่มือสอง วงการแพทย์และงานวิจัยได้มีการศึกษาค้นคว้าและยืนยันว่าการสูบบุหรี่และการรับบุหรี่มือ 2 มีผลต่อการก่อให้เกิดมะเร็งปอดโดยตรง โดยผู้สูบบุรี่มีแนวโน้มตรวจพบมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในบุหรี่ อาทิ นิโคติน ทาร์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรเจนไดออกไซด์ ฯลฯ และการเผาไหม้ จะส่งผลให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ และทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ นอกจากนี้ยังไปรบกวนกระบวนการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย เรียกว่าเป็นสารก่อมะเร็งตั้งต้นของมะเร็งทุกชนิดเลยก็ว่าได้

lung cancer cause prevent

          2. สัมผัสกับฝุ่นควัน หรือมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน ในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ทางคุณหมอกฤตไทได้กล่าวถึงและคาดว่ามีส่วนสำคัญในการทำให้เขาป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือของไทยต้องเผชิญกับภาวะหมอกควันฝุ่น PM 2.5 เรียกว่าอากาศเป็นพิษติดอันดับท็อป ๆ ของโลก ในระยะหลายปีมานี้ ซึ่งเจ้าฝุ่นควัน หรือฝุ่น PM2.5 จะส่งผลโดยตรงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อสุขภาพของเรา โดยเฉพาะต่อระบบทางเดินหายใจ ที่จะกระตุ้นในเกิดภูมิแพ้ โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง เพราะว่าฝุ่นขนาดเล็กสามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจไปสู่ปอดได้อย่างรวดเร็ว เมื่อสะสมเป็ยระยะเวลานานเข้าก็จะพัฒนาเป็นมะเร็งปอด นอกจากนั้นยังรวมไปถึงโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคทางสมองได้

          3. การสัมผัสกับก๊าซเรดอน แร่ใยหิน และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ สารบางชนิด อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน ยูเรเนี่ยม สารหนู ไอระเหยจากนิกเกิล โครเมี่ยม หรือผลิตภัณฑ์จากถ่านหิน เมื่อรับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากส่งผลเสียให้เกิดการสะสมและทำให้เกิดเป็นมะเร็งได้ โดยสามารถพบมากสำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสารเคมีต่าง ๆ อุตสาหกรรมรถยนต์ รวมไปถึงการฟุ้งกระจายในสิ่งแวดล้อม รวมถึงการติดอยู่ตามโครงสร้างอาคาร สถานที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย

          4. ความเสี่ยงของครอบครัวที่มีประวัติผู้ป่วย โดยสถิติแล้วในครอบครัวของผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง มักมีความเสี่ยงสูงมากกว่าครอบครัวที่ไม่มีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็งเลย มะเร็งที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์นี้เกิดจากการถ่ายทอดของยีนส์จากรุ่นก่อนหน้าไปสู่รุ่นลูก ๆ ต่อไปได้ หากมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อบุคคลนั้น ๆ ปลุกให้เชื้อมะเร็งในตัวขึ้นมาทำงาน

          5. ความเสี่ยงของผู้ที่เคยมีประวัติการป่วยเกี่ยวกับโรคปอด ผู้ที่เคยมีประวัติการป่วยเป็นโรคปอด อาทิ วัณโรค ถุงลมโป่งพอง มีโอกาสเกิดมะเร็งปอดสูงกว่าคนที่ไม่มีประวัติการป่วยเกี่ยวกับโรคปอดมาก่อน 

          6. ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ส่งผลเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด เช่น การใช้สารเสพติดบางชนิด อายุที่เพิ่มขึ้น ผู้ที่เคยฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็งอื่น ๆ เช่นฉายรังสีเพื่อรักษาบริเวณอก เต้านม หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพิ่มความเสี่ยงในการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำได้อีก

lung cancer cause prevent

อาการของผู้ป่วยมะเร็งปอด การสังเกตเห็นอาการของโรคได้เร็วมีผลดีให้ได้รับการรักษาเร็วและเพิ่มโอกาสในการหายป่วยได้ แต่อย่างไรก็ตามในโรคมะเร็งปอดมักไม่แสดงอาการอะไรในระยะเริ่มต้น การสังเกตเห็นความผิดปกติได้นั้นเป็นการบอกว่าคุณเริ่มเข้าสู่ภาวะลุกลามแล้ว โดยมีอาการที่เด่นชัด ดังนี้

1. อาการไอเรื้อรัง ไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ หรือเสมหะปนเลือด
2. เสียงแหบ
3. หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
4. หายใจสั้น มีเสียงหวีดขณะหายใจ
5. เจ็บหน้าอกบ่อย หรือเจ็บหน้าอกตลอดเวลา
6. ปอดติดเชื้อบ่อย
7. น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

การดูแลสุขภาพปอด และลดความเสี่ยงการป่วยโรคมะเร็งปอด
1. ไม่สูบบุหรี่ และเลี่ยงการรับควันบุหรี่มือสองจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวนทั่วไป หรือบุหรี่ไฟฟ้า
2. สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อทำกิจกรรมนอกบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเมืองหลวงหรือพื้นที่เสี่ยงหมอกควัน
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
4. ตรวจเช็คร่างกาย ทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงและไม่มีความเสี่ยงควรตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำทุกปี เพื่อคัดกรองโรคร้ายแรง และรับคำแนะนำด้านสุขภาพโดยรวมจากแพทย์

ขอบคุณที่มาของข้อมูลจาก: 
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/lung-cancer
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/lung-cancer
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99-PM2-5

แชร์โพสต์นี้

To install this Web App in your iPhone/iPad press and then Add to Home Screen.

Added to cart