ตื่นตัว ไม่ตื่นตูม ‘โรคปอดอักเสบ’ รุนแรงเบอร์ไหน ป้องกันได้ยังไง?

29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2023 โดย
Administrator 2

ตื่นตัว ไม่ตื่นตูม ‘โรคปอดอักเสบ’
รุนแรงเบอร์ไหน ป้องกันได้ยังไง?

          ทำใจตุ้ม ๆ ตอม ๆ หวั่นซ้ำรอยโควิด-19 อีกครั้งเมื่อมีข่าวเรื่องการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจในประเทศจีนอย่างโรคปอดอักเสบในเด็ก ที่มีรายงานว่ามีสถิติผู้ป่วยสูงเมื่อเทียบในระยะเวลาเดียวกัน 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าทางการจีนมีการยืนยันว่าไม่ได้พบเชื้อใหม่อันเป็นต้นตอของโรคปอดอักเสบดังกล่าว แต่ทาง WHO และทั่วโลกต่างก็จับตามองและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดถึงการแพร่ระบาดของโรค บทความในวันนี้ ‘สุขภาพดีมีบอก’ จึงขอนำทุกคนไปรู้จักกับ ‘โรคปอดอักเสบ’ และความรุนแรงของโรคนี้กันมากขึ้น พร้อมกับวิธีการป้องกัน เพื่อให้เราตื่นตัวด้วยความเข้าใจและไม่กังวลจนตื่นตูม



ทำความรู้จักโรคปอดอักเสบ
          โรคปอดอักเสบ (pneumonitis) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า ‘โรคปอดบวม’ เป็นการอักเสบของเนื้อปอด และหลอดลม ซึ่งมีสาเหตุมาจาก 1. การติดเชื้อ 2. สาเหตุอื่น ๆ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ และ 3. การแพ้ภูมิตัวเอง แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดมาจากการติดเชื้อ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่มักพบมากในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และ ผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ เนื่องจากภูมิต้านทานต่อเชื้อต่ำ ความรุนแรงของโรคปอดอักเสบอาจเริ่มต้นจากการเจ็บป่วยเล็กน้อย เหมือนๆ กับไข้หวัด แต่ในการติดเชื้อรุนแรงและไม่ได้รับการรักษา อาการสามารถทวีความรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ 

โรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ มาจากการที่เชื้อโรค ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราเข้าสู่ปอดและทำให้เกิดการอักเสบขึ้น ตัวอย่าง เช่น เชื้อ Respiratory Syncytial Virus (RSV), เชื้อ Influenza, เชื้อ Streptococcus pneumoniae ฯลฯ โดยสามารถรับเชื้อได้ผ่านทางเดินหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศเข้าสู่ปอด เช่น การหายใจ ไอ จามรดกัน 

โรคปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เกิดได้จากการสำลักเอาสารเคมี ฝุ่น ควัน สารระเหย ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ และการสำลักน้ำดื่ม หรือเศษอาหารเข้าปอด ส่งผลให้เชื้อที่อยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนเข้าสู่บริเวณปอด และเกิดโรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อตามกระแสโลหิต โดยการติดเชื้อมาจากอวัยวะอื่นมาก่อน หรือการลุกลามการติดเชื้อจากอวัยวะข้างเคียงปอด และการใช้ยาบางชนิดหรือการทำหัตถการ เช่น ยาเคมีบำบัด ยาที่ใช้ควบคุมการเต้นของหัวใจบางชนิด การส่องกล้องหลอดลม การดูดเสมหะ

โรคปอดที่เกิดจากการแพ้ภูมิตัวเอง มักพบในกลุ่มผู้ป่วยเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยโรค HIV ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ฯลฯ



อาการของโรคปอดอักเสบ เมื่อปอดเริ่มอักเสบก็จะส่งสัญญาณอาการเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัด แต่มีความรุนแรงกว่า (ต้องหมั่นสังเกตอาการ) โดยทั่วไปพบอาการ ดังนี้
- ไอ มีเสมหะ 
- มีไข้สูง หนาวสั่น 
- มีเหงื่อออก
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย
- หายใจเร็ว หอบ 
- เจ็บหน้าอกขณะหายใจ หรือไอ
- ผู้สูงอายุอาจซึม อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ 
- เด็กเล็กอาจซึม ท้องอืด อาเจียน ไม่ดูดนมหรือน้ำ หายใจปีกจมูกบาน ซี่โครงบาน อกบุ๋ม และอาจตัวเขียว

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากปอดอักเสบ
- การติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด
- ภาวะช็อค กรณีติดเชื้อรุนแรง
- ภาวะมีฝีในปอด
- ภาวะมีน้ำหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด

วิธีการรักษาเมื่อป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ เมื่อป่วยเป็นโรคปอดอักเสบแพทย์จะประเมินความรุนแรงและรักษาตามอาการป่วย เช่น 
- การให้ยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อที่พบ
- การให้ออกซิเจน กรณีที่หายใจเร็ว หอบ หรือสำหรับผู้ที่หายใจเหนื่อยมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ใส่ท่อหลอดลม
หรือใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย
- ให้ยาขยายหลอดลม หากมีเสียงหลอดลมตีบ
- ให้ยาละลายเสมหะ หากเสมหะเหนียว
- ให้สารน้ำทางเส้นเลือด และงดอาหาร ในกรณีที่รับประทานอาหารไม่ได้ 



วิธีการป้องกันไม่ให้ปอดอักเสบ สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเองด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารครบถ้วน นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันของร่างกายที่แข็งแรง และเพิ่มเกราะป้องกันเหล่านี้อีกนิด
- เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย 
- เลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ผู้คนหนาแน่น หรือสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการรับเชื้อจากการไอ จาม
- ล้างมือเมื่อมีการสัมผัสสิ่งของ และก่อนรับประทานอาหารเพื่อป้องกันการรับเชื้อสู่ร่างกาย
- เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ไอเสียจากรถยนต์ ฯลฯ
- ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ
- การฉีดวัคซีนคุ้มกันโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ 
- เมื่อป่วยเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรรักษาตัวแต่เนิ่น ๆ
- ระมัดระวังการเคี้ยวและกลืนอาหารไม่ให้สำลัก

          หวังว่าในช่วงอากาศเปลี่ยนเริ่มหนาวเย็นมากขึ้นเช่นนี้ ทุกท่านจะเป็นผู้รอดจากอาการเจ็บป่วยและได้ฉลองปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วยสุขภาพที่ดีข้ามปีครับ และหวังว่าจะไม่มีเชื้อหรือโรคใหม่มาทำให้เทศกาลแห่งความรื่นเริงต้องชะงักลง และในกรณีโรคปอดอักเสบไม่เพียงการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียอย่างที่เรากังวลนะ ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 หรือควัน ก็ทำให้ปอดอักเสบได้เหมือนกัน โหลดแอพเช็คสภาพฝุ่นมามอนิเตอร์กันเพิ่มเติมเพื่อการเตรียมตัว และดูแลคนใกล้ชิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ดีขึ้นเพิ่มเติมกันได้นะครับ

          ท่านที่มีแพลนเที่ยวและเดินทาง อุ่นใจได้มากขึ้นกับการวางแผนรองรับความเสี่ยงด้วยประกันภัย ทั้งประกันสุขภาพ อุบัติเหตุ ประกันเดินทาง หรือประกันรถยนต์ก็มีครบจบที่ TT Insurance Broker รายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องความคุ้มครองหรือเงื่อนไขการทำประกันภัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ Facebook page: TT Insurance Broker, Line official @TTIB, www.ttib.co.th หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-4848 วันจันทร์-ศุกร์ในเวลาทำการ 08.30-17.00 น.


ที่มา :
https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/615#:~:text=%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9A%20%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%99,%E0%B8%A4%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%9D%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A4%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A7
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/pneumonitis
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/pneumonitis
https://www.bangkokhospital.com/content/pneumonia-do-not-let-severe


แชร์โพสต์นี้

To install this Web App in your iPhone/iPad press and then Add to Home Screen.

Added to cart