‘อาหารทะเลปนเปื้อน’ ส่งผลเสียแค่ไหนต่อผู้บริโภค?

30 สิงหาคม ค.ศ. 2023 โดย
Administrator 2

‘อาหารทะเลปนเปื้อน’
ส่งผลเสียแค่ไหนต่อผู้บริโภค?

          ในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่นได้ปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรก (หลังจากประสบเหตุการณ์สึนามิในปี 2554 จนทำให้ต้องเก็บน้ำที่ปนเปื้อนสารมากว่า 10 ปี) หลังจากศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและได้รับอนุญาตจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ของสหประชาชาติว่าน้ำดังกล่าวอยู่ในระดับที่ปลอดภัย และมีปริมาณสารกัมมันตรังสีต่ำกว่าเกณฑ์ของญี่ปุ่นและองค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับน้ำดื่ม จึงได้เริ่มทำการปล่อยน้ำปนเปื้อนเป็นครั้งแรก และคาดว่าใช้ระยะเวลากว่า 30 ปี เพื่อปล่อยน้ำกว่า 1.3 ล้านตันจนหมด อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้สร้างความกังวลต่อประเทศต่าง ๆ ใกล้เคียง และประเทศที่นำเข้าอาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเลจากญี่ปุ่นว่าจะพบสารกัมมันตภาพรังสีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่



          ‘สุขภาพดีมีบอก’ จึงนำข้อมูลเกี่ยวกับผลเสียต่อผู้บริโภคเมื่อรับประทานอาหารทะเลที่ปนเปื้อนสารกัมมันภาพรังสี และการปนเปื้อนอื่นที่มักพบบ่อยในอาหาร มาแบ่งปันครับ

          นพ. อภิชาต พานิชชีวลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยาและรังสีรักษาจากศูนย์มะเร็งฮอไรซัน กล่าวว่า “การแผ่รังสีของสารกัมมันตรังสีเป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์ไม่อาจสังเกตได้ด้วยตาเปล่า จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตได้ โดยอันตรายที่เกิดขึ้นนั้นมาจากคุณสมบัติที่สามารถแตกตัวเป็นไอออน (Ionizing Radiation) เมื่อรังสีผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อของร่างกาย ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเซลล์ถึงในระดับดีเอ็นเอ โดยทำให้โมเลกุลภายในเซลล์ และระบบการทำงานของเซลล์เปลี่ยนแปลงไป” 



          โดยทั่วไปแล้วมนุษย์ทุกคนมีโอกาสในการดูดซับรังสีได้ในธรรมชาติและที่มนุษย์ผลิตขึ้น ปริมาณระหว่าง 0.0015-0.00365 ซีเวิร์ตต่อปี (ตัวอย่าง การเอกซเรย์ฟัน 1 ครั้ง รับรังสี 0.00001 ซีเวิร์ต) ยกเว้นผู้ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับรังสีต่าง ๆ ที่มีโอกาสรับรังสีได้มากกว่าคนทั่วไป โดยกัมมันตภาพรังสีมีโอกาสปนเปื้อนหรือเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่อาหารได้เช่นเดียวกันกับการปนเปื้อนในแหล่งอื่น ๆ แต่ระดับความรุนแรงที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ชนิดของสาร 2. ระยะเวลาที่ได้รับรังสี และ 3. ความเข้มข้น 



ผลเสียของการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี
1. การได้รับรังสีโดยตรง เช่น จากการสูดดม สัมผัส หรือรับประทานอาหาร สามารถพบอาการที่สังเกตได้ภายนอกได้แก่ ผื่นแดง ผิวหนังพุพอง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปากเปื่อย เป็นแผลเปื่อยที่ผิวหนัง ผมร่วง ต้อกระจก

2. การได้รับรังสีแม้ปริมาณน้อย แต่รับเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เม็ดเลือดขาวถูกทำลาย ระบบสร้างโลหิตจากไขกระดูกบกพร่อง และอาจส่งผลให้เกิดภาวะซีด

3. รังสีอาจทำให้ภูมิคุ้มกัน และความต้านทานโรคต่ำลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือโรคได้ง่ายมากขึ้น

4. การได้รับรังสีเป็นเวลานานเพิ่มโอกาสต่อการเกิดโรคมะเร็ง เนื้องอก และความเสียหายทางพันธุกรรมของเซลล์ เช่น การรับสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 จะส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในต่อมไทรอยด์สูง หรือการรับธาตุซีเซียมจะมีการกระจายตัวไปตามเนื้อเยื่อทำให้เนื้อเยื่อที่เป็นแหล่งสะสมนั้น ๆ เสี่ยงต่อการก่อตัวของมะเร็งได้มากกว่าปกติ

5. ส่งผลต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่รังสีอาจส่งผลต่อการทำงานของสมองและร่างกายโดยรวม และจะส่งผลเสียต่อปัญหาสุขภาพระยะยาว หรือการทำงานของอวัยวะเสื่อมลง

6. สำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ เผยว่าผลกระทบจากการรับรังสีเป็นปริมาณมากในระยะเวลาสั้น จะมีอาการดังนี้
- 50-100 มิลลิซีเวิร์ต ทำให้สารเคมีในเลือดเปลี่ยนแปลง
- 500 มิลลิซีเวิร์ต ทำให้คลื่นไส้อาเจียน
- 700 มิลลิซีเวิร์ต ทำให้อาเจียน
- 900 มิลลิซีเวิร์ต ทำให้ท้องร่วง
- 1,000 มิลลิซีเวิร์ต ทำให้เลือดไหลไม่หยุด
- 4,000 มิลลิซีเวิร์ต หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เสียชีวิตภายใน 2 เดือน 
- 10,000 มิลลิซีเวิร์ต ทำให้ผนังลำไส้ถูกทำลาย เลือดออกภายใน อาจเสียชีวิตภายใน 1-2 สัปดาห์
- 20,000 มิลลิซีเวิร์ต ทำให้ระบบประสาทส่วนกลางเสียหาย หมดสติภายในไม่กี่นาที
อาจเสียชีวิตได้ในไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่วัน



นอกเหนือจากสารกัมมันตรังสี สารที่มักพบการปนเปื้อนในอาหารและมีโทษต่อร่างกายของผู้บริโภค ได้แก่ 

1. สารปรอท ที่มักปนเปื้อนอยู่ในอาหารทะเล หากได้รับปริมาณมาก ในระยะเวลาสั้น ๆ ส่งผลให้มีพิษเฉียบพลัน และมีอาการ ไข้ หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปอดอักเสบ ชัก ไตวาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่หากได้รับในปริมาณไม่มากแต่สะสมเป็นระยะเวลานาน ๆ ส่งผลเสียต่อการทำงานของสมอง ตับ ไต ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบผิวหนัง ได้

2. ฟอร์มาลีนที่ถูกนำมาใช้แบบผิด ๆ เพื่อยืดอายุและความสดของของสด ทั้งเนื้อสัตว์ และอาหารทะเล ซึ่งจะส่งผลต่อผู้บริโภคทันทีที่รับประทานอาหารที่ใช้สารนี้ คือ มีผื่นหรือลมพิษเฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ ปวดท้องรุนแรง ปากคอแห้ง แสบคอจมูก ใจเต้นเร็ว หายใจไม่ออก อาจรุนแรงถึงขั้นความดันต่ำ ช็อก หมกสติ หรือเลือดเป็นกรดและเสียชีวิต

          การเอาตัวรอดร้อยเปอร์เซ็นต์จากการปนเปื้อนในอาหารเป็นเรื่องที่ทำได้ยากอยู่พอสมควร เนื่องจากในระบบนิเวศมีความสัมพันธ์กันทั้งพืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อมโดยธรรมชาติ รวมไปถึงการผลิตสร้างและใช้สิ่งต่าง ๆ จากมนุษย์เองที่ส่งผลกระทบ (มหาศาล) ต่อสิ่งแวดล้อมและวนกลับมาในระยะเวลาแค่เพียงชั่วอายุคนอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

ที่มา:
-https://www.bumrungrad.com
-https://www.thansettakij.com/sustainable/food-security/574528
-https://www.bbc.com/thai/articles/c4nj0jm078ko
-https://mgronline.com/around/detail/9540000037528
https://www.dla.go.th/upload/document/type2/2554/5/9131_1.pdf?



แชร์โพสต์นี้

To install this Web App in your iPhone/iPad press and then Add to Home Screen.

Added to cart