รย. 1 รย. 2 คืออะไร? คลายสงสัยตรงนี้! ประเภทรถตามจดทะเบียนมีกี่แบบ?

14 กันยายน ค.ศ. 2023 โดย
Administrator 2

รย. 1 รย. 2 คืออะไร? คลายสงสัยตรงนี้! ประเภทรถตามจดทะเบียนมีกี่แบบ?

          หากท่านเป็นเจ้าของรถและมีเอกสารรายการจดทะเบียนรถหรือสำเนาทะเบียนรถอยู่กับตัวก็จะเห็นข้อมูลรายการจดทะเบียนซึ่งเป็นรายละเอียดของรถแต่ละกันระบุไว้ และสามารถอ่านข้อมูลก็จะเข้าใจรายละเอียดได้อย่างง่ายดาย แต่มีหนึ่งในอักษรย่อที่อาจจะไม่ได้เข้าใจในทันที เอ๊ะ ๆ กับการเขียนกำกับไว้ด้วย “รย.ตามด้วยตัวเลข” ต่อท้ายกับข้อมูลประเภทรถ ซึ่งเชื่อว่าหลายท่านอาจจะไม่ทราบความหมายว่านี่คือการกำหนดประเภทของรถคันนั้น ๆ ในการขอจดทะเบียนและการออกใบคู่มือจดทะเบียนรถ ที่ตามกฎหมายแล้วรถทุกคันต้องมีการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก
          การจดทะเบียนเป็นไปตามลักษณะรถและรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกัน ตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.ล้อเลื่อน พ.ศ. 2473 นอกจาก รย.1 และ รย.2 ที่เราคุ้นชินกัน จริง ๆ แล้ว การจดทะเบียนในประเทศไทยมีทั้งหมดถึง 17 ประเภทด้วยกัน เป็นรถประเภทไหนบ้างไปคลายความสงสัยกันด้วยสกู๊ปวันนี้เลยคร้าบ 

1. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1)
รถที่ต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน 2.50 เมตร ยาวไม่เกิน 12 เมตร เช่น เก๋งตอนเดียว เก๋งสองตอน เก๋งสามตอน ประทุนสองตอน ตู้นั่งสามตอน เป็นต้น



2. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รย.2)
รถที่ต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน 2.50 เมตร ยาวไม่เกิน 12 เมตร ความยาวของตัวถังวัดจากศูนย์กลางเพลาล้อหลังถึงท้ายรถไม่เกิน 2 ใน 3 ของความยาว (สามารถวัดจากศูนย์กลางเพลาล้อและหน้าถึงศูนย์กลางเพลาล้อหลัง) เช่น เก๋งสามตอน เก๋งสามตอนแวน นั่งสองตอนสองแถว ตู้นั่งสี่ตอน เป็นต้น



3. รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รย.3)
รถที่ต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน 2.50 เมตร และยาวไม่เกิน 12 เมตร รวมถึงความยาวของตัวถังวัดจากศูนย์กลางเพลาล้อหลังถึงท้ายรถต้องไม่เกิน 3 ใน 5 (สามารถความยาววัดจาก ศูนย์กลางเพลาล้อหน้าถึงศูนย์กลางเพลาล้อหลัง) เช่น เก๋งทึบบรรทุก กระบะบรรทุกพื้นเรียบ กระบะบรรทุก (ไม่มีหลังคา) กระบะบรรทุก (มีหลังคา) เป็นต้น


 
4. รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล (รย.4)
ขนาดของรถต้องมีขนาดความกว้างไม่เกิน 1.50 เมตร และยาวไม่เกิน 4 เมตร ส่วนในเรื่องของเครื่องยนต์ต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน 550 ลูกบาศก์เซนติเมตร เช่น ประทุนสองตอน ประทุนสามตอน ประทุนสองแถว เป็นต้น



5. รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด (รย.5)
รถเก๋งสองตอนไม่ต่ำกว่าสี่ประตู น้ำหนักรถไม่ต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัม ขนาดกว้างไม่เกิน 2.50 เมตร และยาวไม่เกิน 6 เมตร เครื่องยนต์ต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร ห้ามรับจ้างบรรทุกคนโดยสารเกินเจ็ดคน เช่น เก๋งสองตอน เก๋งสองตอนแวน เก๋งสามตอน เก๋งสามตอนแวน นั่งสองตอน เป็นต้น



6. รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (รย.6)
รถเก๋งสองตอนไม่ต่ำกว่าสี่ประตู ขนาดกว้างไม่เกิน 2.50 เมตร และยาวไม่เกิน 6 เมตร เครื่องยนต์ต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 1,000 ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป และมีข้อกำหนดเรื่องระบบควบคุมรถ และการใช้วัสดุบัง ปิด หรือกรองแสงกระจก ตัวอย่างรถประเภท รย.6 ได้แก่ เก๋งสองตอน เก๋งสองตอนแวน เก๋งสามตอน เก๋งสามตอนแวน เป็นต้น



7. รถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง (รย.7)
รถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง ต้องมีลักษณะเป็นรถสองตอน มีความกว้างของไม่เกิน 1.50 เมตร ยาวไม่เกิน 4 เมตร และมีมากกว่าสองประตู เช่น นั่งสองตอน



8. รถยนต์รับจ้างสามล้อ (รย.8)
รถรับจ้างสามล้อแบบเปิดประทุนที่นั่ง 2 ตอน หรือ 2 แถว รถต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน 1.50 เมตร และยาวไม่เกิน 4 เมตร เช่น ประทุนสองตอน ประทุนสองแถว

 

9. รถยนต์บริการธุรกิจ (รย.9)
รถเก๋งสองตอนไม่ต่ำกว่าสี่ประตู น้ำหนักรถไม่ต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัม ขนาดกว้างไม่เกิน 2.50 เมตร และยาวไม่เกิน 6 เมตร ต้องเป็นรถยนต์โดยสารประจำทางเป็นพาหนะที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารระหว่างสนามบิน ท่าเรือ สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ หรือขนส่งผู้โดยสารไปยังโรงแรม ที่อยู่อาศัย สำนักงานผู้โดยสาร หรือผู้ให้บริการทางธุรกิจ ซึ่งบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน เช่น เก๋งสองตอน เก๋งสองตอนแวน เก๋งสามตอน



10. รถยนต์บริการทัศนาจร (รย.10)
รถยนต์โดยสาร หรือ รถเช่า ต้องเป็นรถเก๋งสองตอนไม่ต่ำกว่าสี่ประตู น้ำหนักรถไม่ต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัม ขนาดกว้างไม่เกิน 2.50 เมตร และยาวไม่เกิน 6 เมตร เป็นประเภทรถจดทะเบียนที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อการท่องเที่ยวโดยบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 7 คน 



11. รถยนต์บริการให้เช่า (รย.11)
รถยนต์โดยสาร หรือ รถเช่าต้องเป็นรถเก๋งสองตอนไม่ต่ำกว่าสี่ประตู รถยนต์ มีน้ำหนักรถไม่ต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัม ขนาดของรถกว้างไม่เกิน 2.50 เมตร และยาวไม่เกิน 6 เมตร สามารถนั่งได้เพียง 7 คน และเป็นรถยนต์ที่จัดไว้ให้เช่า ซึ่งมิใช่เป็นการเช่าเพื่อนำไปรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสิ่งของ



12. รถจักรยานยนต์ (รย.12)
รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ หรือกำลังไฟฟ้าและมีล้อไม่เกินสองล้อ ถ้ามีพ่วงข้างมีล้อเพิ่ม อีกไม่เกินหนึ่งล้อ และให้หมายความรวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์ด้วยต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน 1.10 เมตร ยาวไม่เกิน 2.50 เมตร



ถ้ามีพ่วงข้างรถพ่วงของรถจักรยานยนต์ต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน 1.10 เมตร ยาวไม่เกิน 1.75 เมตร และเมื่อนำมาพ่วงกับรถจักรยานยนต์แล้วต้องมีขนาดกว้างวัดจาก ล้อหลังของรถจักรยานยนต์ถึงล้อของรถพ่วงของรถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 1.50 เมตร

13. รถแทรกเตอร์ (รย.13)
รถที่มีล้อหรือสายพาน และมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนในตัวเอง เป็นเครื่องจักรกลขั้นพื้นฐานในงานที่เกี่ยวกับการขุด ตัก ดัน หรือฉุดลาก เป็นต้น หรือรถยนต์สำหรับลากจูงซึ่งไม่ได้ใช้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกต้องมีขนาดกว้าง ไม่เกิน 4.40 เมตร ยาวไม่เกิน 16.20 เมตร 



14. รถบดถนน (รย.14)
รถที่ใช้ในการบดอัดวัสดุบนพื้นให้แน่น และมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนในตัวเอง หรือใช้รถอื่นลากจูง ต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน 3.50 เมตร ยาวไม่เกิน 8 เมตร


15. รถใช้งานเกษตรกรรม (รย.15)
รถที่ผลิต หรือ ประกอบขึ้นเพื่อใช้งานเกษตรกรรม โดยใช้เครื่องยนต์ซึ่งมิได้ใช้สำหรับรถยนต์ น้ำหนักรถไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม มีขนาดกว้างไม่เกิน 2 เมตร ยาวไม่เกิน 6 เมตร เครื่องยนต์ต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน 1,200 ลูกบาศก์เซนติเมตร


16. รถพ่วง (รย.16)
รถที่เคลื่อนที่ไปโดยใช้รถอื่นลากจูง ต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน 2.50 เมตร ยาวไม่เกิน 12 เมตร


17. รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รย.17)
รถจักรยานยนต์ที่ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ต้องมีความกว้างไม่เกิน 1.10 เมตร ความยาวไม่เกิน 2.50 เมตร ความสูงไม่เกิน 2 เมตร เครื่องยนต์ต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร ไม่หมายรวมถึงรถจักรยานยนต์ที่มีพ่วงข้างและจักรยานที่ติดเครื่องยนต์


          สำหรับการระบุ ‘รย.’ ของรถนั้น นอกจากใช้เพื่อการระบุข้อมูลในการต่อทะเบียนแล้ว ยังส่งผลต่อการต่อพ.ร.บ. ต่อภาษีประจำปี และการทำประกันรถครับ จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องแจ้งเมื่อทำรายการเกี่ยวกับรถยนต์ ในรถบางประเภทกรณีที่มีการใช้งานเปลี่ยนไป เจ้าของรถก็สามารถแจ้งกับสำนักงานขนส่งใกล้บ้านเพื่อเปลี่ยนรหัสรย.นี้ได้ โดยใช้เอกสารเล่มเดิม และนำรถคันดังกล่าวเพื่อการตรวจสภาพไปด้วยครับ

          สำหรับใครที่สนใจทำประกันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องความคุ้มครองหรือเงื่อนไขการทำประกันภัย ได้ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัยรถยนต์ของ TT Insurance Broker ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ช่องทางการติดต่อ Facebook page: TT Insurance Broker, Line official @TTIB หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-4848 วันจันทร์-ศุกร์ในเวลาทำการ 08.30-17.00 น.

ที่มา:
https://www.dlt-inspection.info/dlt/cp/file_law_uploads/13-11-10-12-59


แชร์โพสต์นี้

To install this Web App in your iPhone/iPad press and then Add to Home Screen.

Added to cart