คน (ภูมิ) แพ้ก็ต้องดูแลตัวเอง! เชื่อผิด ๆ อาจขิตได้

October 31, 2023 by
Administrator 2

คน (ภูมิ) แพ้ก็ต้องดูแลตัวเอง!
เชื่อผิด ๆ อาจขิตได้

          ‘โรคภูมิแพ้’ หรือ ‘อาการแพ้’ แม้ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มโรคร้ายแรง แต่เป็นโรคที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้และเป็นโรคหรืออาการที่หายขาดได้ยากครับ โดยปกติแล้วคนเราแทบจะมีโอกาสแพ้ หรือมีอาการภูมิแพ้ต่อสิ่งเร้าได้สักอย่างอยู่แล้ว เช่น อาหาร ฝุ่น อากาศ ขนสัตว์ ฯลฯ เพิ่งมีเหตุการณ์ในโลกออนไลน์หมาด ๆ เกี่ยวกับการเดินทางบนสายการบินแห่งหนึ่งที่ขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารไม่รับประทานอาหารประเภทถั่ว เนื่องจากมีผู้โดยสารบนเครื่องแพ้อย่างรุนแรง ละอองของถั่ว หรือการสัมผัสกับถั่วอาจทำให้เขาถึงแก่ชีวิตได้ จนเป็นที่ถกเถียงกัน ฟากหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องความรับผิดชอบส่วนบุคคล ไม่ควรมาทำให้คนอื่นไม่สะดวก ส่วนอีกฟากมองว่าเป็นเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หากทำให้ใครต้องถึงแก่ชีวิตคงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก วันนี้จึงหยิบยกเรื่องอาการภูมิแพ้ และความเชื่อผิด ๆ ที่อยากบอกว่าอย่าหาทำหากไม่อยากถึงแก่ชีวิตมาแบ่งปันและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องภูมิแพ้กันครับ



          ‘โรคภูมิแพ้’ เป็นภาวะผิดปกติที่ร่างกายมีการตอบสนองไวต่อสารบางอย่างรอบตัว เช่น อาหาร ฝุ่น อากาศ ขนสัตว์ น้ำหอม ควัน เชื้อรา เกสรดอกไม้ ฯลฯ ทำให้แสดงเป็นอาการที่ไม่พึงประสงค์ อาทิ คัดจมูก คันจมูก จาม ขึ้นผื่นภูมิแพ้ ขึ้นลมพิษ บวม ระคายเคืองต่อระบบต่าง ๆ ซึ่งในบางอาการสามารถเป็นและหายได้ในระยะเวลาสั้น ๆ หรือมีอาการไม่รุนแรงนัก แต่อย่างไรก็ตาม มีบางอาการที่เป็นหนักและต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อป้องกันการเสียชีวิต โรคภูมิแพ้สามารถกระทบกับระบบในร่างกายของเราได้หลายระบบด้วยกัน 

1. ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เป็นการเกิดอาการที่ระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่ จมูก หลอดลม ปอด ส่งผลให้เกิดอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล เหนื่อย หอบ หืด มีอาการไอ หายใจมีเสียงหวีด แน่นหน้าอก เป็นต้น

2. ภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นการเกิดอาการที่ผิวหนังได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยแสดงอาการ ผื่น ผื่นคัน ผิวแห้งลอก ผิวบริเวณที่แพ้หนาขึ้น

3. ภูมิแพ้อาหาร เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบหรือโปรตีนที่กระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันทำงานเกินกว่าปกติ จนร่างกายเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้เกิดอาการแบบเฉียบพลัน เช่น ผื่นคัน ผื่นลมพิษ ปากหรือหน้าบวม แน่นคอ แน่นหน้าอก อาเจียน ท้องเสีย ช็อค หายใจติดขัด หอบ หมดสติ ความดันโลหิตต่ำ ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้

4. ภูมิแพ้ตา เกิดจากการระคายเคืองบริเวณดวงตา ทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบ ทำให้ระคายเคือง คันตา ตาแดง ตาบวม 




แล้วผู้ป่วยที่เป็นภูมิแพ้ควรดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง?
1. เลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้แพ้ หากเรารู้ว่าสิ่งที่แพ้หรือก่อให้เกิดการระคายเคืองของตนเองอยู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส สูดดม รับประทาน หากรับเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว ควรสังเกตอาการตนเอง หรือรับประทานยาแก้แพ้เพื่อระงับอาการแพ้

2. พกยาแก้แพ้หรือยาประจำตัวติดไว้อยู่เสมอ เพราะอาจเกิดเหตุฉุกเฉินได้ทุกเมื่อ เช่น ไม่ทราบว่ามีส่วนประกอบของอาหารที่แพ้ เมื่อมียาติดตัวก็สะดวกและทันเวลาในการใช้งาน หากเป็นโรคภูมิแพ้ หรือมีประวัติหอบหืดอย่างรุนแรง ควรพกบัตรที่ระบุอาการป่วยของโรคติดตัวไว้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินช่วยให้ได้รับความช่วยเหลือง่ายขึ้น

3. ทดสอบสารก่อภูมิแพ้ หากไม่แน่ใจว่าแพ้อะไร หรืออยากสโคปอาการแพ้ลงอาจทดสอบภูมิแพ้ได้ โดยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test) และการตรวจเลือด (Specific IgE) เพื่อหาสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด ซึ่งอาจจะไม่ได้บอกโดยละเอียดทั้งหมดหรือทุกชนิด แต่เราจะได้ทราบคร่าว ๆ ว่าอยู่ในกลุ่มสารก่อภูมิแพ้ประเภทใด

4. ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

5. รักษาสภาพแวดล้อมกำจัดการก่อภูมิแพ้ กรณีภูมิแพ้ผิวหนังหรือทางเดินหายใจ การหมั่นทำความสะอาดบ้าน ห้องนอน เสื้อผ้า เพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้ที่อาจสะสมอยู่ในบริเวณ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น เกสร ฯลฯ ก็จะช่วยให้ลดอาการภูมิแพ้ลงได้

ความเข้าใจผิด ๆ ที่อาจทำให้แพ้หนักกว่าเดิม หรือเป็นอันตรายต่อชีวิต
1. ความเชื่อผิด ๆ เรื่องรับประทานของแพ้ให้ร่างกายชิน เป็นวิธีการที่แพทย์ไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง การทำเช่นนี้อาจทำให้เสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากการแพ้รุนแรงได้ หากต้องการทราบหรือเพิ่มความแน่ใจว่าแพ้หรือไม่ผ่านการลองรับประทานควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และทดสอบรับประทานปริมาณน้อย เพื่อลดความรุนแรงของอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้น

2. ความเชื่อผิด ๆ เรื่อง โรคภูมิแพ้หายขาดได้ เป็นความเข้าผิดที่อันตรายไม่แพ้ข้อแรก หากเข้าใจว่าหายขาดและไปรับประทานหรือสัมผัสกับสิ่งของนั้นอาจทำให้เกิดภาวะแพ้ขึ้นมาโดยไม่ทันตั้งตัว และร่างกายของเรามีการตอบสนองต่อสิ่งแพ้แต่ละครั้งไม่เท่ากัน อาจทำให้อาการทรุดเฉียบพลันได้ โดยมากภูมิแพ้ไม่สามารถหายขาดได้ แต่ก็ไม่เสมอไปหากเป็นการแพ้ช่วงวัยเด็ก เช่น แพ้ไข่ แพ้นม แพ้ข้าวสาลี เมื่อโตขึ้นอาจหายเป็นปกติได้ หรือภูมิแพ้บางชนิดเมื่อโตขึ้นอาจไม่หายขาด ก็อาจจะลดความรุนแรงลง หรือไม่ถึงแก่ชีวิต 

3. ความเชื่อผิด ๆ เรื่องกินยาแก้แพ้แล้วง่วง กินเยอะแล้วไตพัง เทคโนโลยีในการผลิตยาต้านฮีสตามีนถูกพัฒนาขึ้นจนมีทางเลือกเป็นชนิดที่ไม่ทำให้ง่วงแล้ว และเรื่องประสิทธิภาพการรักษาถูกพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพสูงและผลข้างเคียงต่ำ ไม่ทำให้เกิดการสะสมและส่งผลเสียอย่างมีนัยยะสำคัญ

          เอาหล่ะครับ เชื่อว่าคนขี้แพ้ (ผู้ป่วยภูมิแพ้) คงพอจะได้คำตอบว่าต้องดูแลตัวเองอย่างไร ควรเลี่ยง หรือลืมความเข้าใจผิดต่อการดูแลตัวเองหรือรักษาอาการภูมิแพ้แบบเดิม ๆ ไปได้บ้าง ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอยู่เสมอ แม้ว่าป่วยอยู่และอาจจะหายขาดไม่ได้ การรู้จักเลี่ยง ป้องกัน รู้จักสิ่งที่เราแพ้จะทำให้เรากลายเป็นผู้ชนะในที่สุด ติดตามบทความที่เป็นประโยชน์อัปเดตใหม่ได้ทุกสัปดาห์ที่นี่ หรือหากมีความสนใจด้านประกันภัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัยของ TT Insurance Broker ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ช่องทางการติดต่อ Facebook page: TT Insurance Broker, Line official @TTIB หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-4848 วันจันทร์-ศุกร์ในเวลาทำการ 08.30-17.00 น.


Share this post

To install this Web App in your iPhone/iPad press and then Add to Home Screen.

Added to cart