แจง 4 ประเด็นปรับใหม่ ความคุ้มครองประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ฉบับอัปเดต ‘กรมธรรม์ประกันภัย BEV 2567’ เตรียมเริ่ม พ.ค. นี้

23 เมษายน ค.ศ. 2024 โดย
Administrator 2

แจง 4 ประเด็นปรับใหม่ ความคุ้มครองประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ฉบับอัปเดต ‘กรมธรรม์ประกันภัย BEV 2567’ เตรียมเริ่ม พ.ค. นี้

          จากความผันผวนของราคาน้ำมันสำหรับรถยนต์พลังงานสันดาป ส่งผลโดยตรงต่อความนิยมการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในสนนราคาที่เอื้อมถึงมากขึ้นสำหรับบุคคลทั่วไป ทำให้ภาคการประกันภัยเองก็ต้องขยับตัวตามเทรนด์ให้ทัน เผื่อผู้บริโภคได้บริหารจัดการความเสี่ยงได้มีประสิทธิภาพสูงสุด ล่าสุด สํานักงาน คปภ. ได้ออกคําสั่งนายทะเบียนที่ 47/2566 เพื่อกําหนดใช้ผลิตภัณฑ์ “กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า : Battery Electric Vehicle (BEV) โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และหากบริษัทฯ ใดยังไม่มีความพร้อมในเรื่องระบบ/การรับประกันภัย จะอนุโลมให้ใช้กรมธรรม์ฯ รถยนต์เดิมในการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า EV ได้จนถึง 31 พฤษภาคม 2567 ซึ่งก็คือเดือนหน้านี่แล้วครับ

          สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับคณะกรรมการยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และตัวแทนภาคธุรกิจ จึงจัดทำแบบ ข้อความ และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้มีเงื่อนไขความคุ้มครองที่สอดคล้องและเหมาะกับลักษณะของรถยนต์ไฟฟ้า และมีอัตราเบี้ยประกันภัยที่สะท้อนความเสี่ยงภัยที่แท้จริง วันนี้นินนินเลยจะพาทุกท่านไปดูข้อแตกต่างของกรมธรรม์ ระหว่างรถยนต์สันดาป และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีส่วนที่ต่างกันอยู่ 4 ประเด็นหลัก ๆ มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยครับ 

บทความที่เกี่ยวข้อง:
- รวมมิตรเคสดัง ปัญหารถยนต์ไฟฟ้า  
- 10 ทริค ฮาวทูขับรถประหยัด สู้วิกฤตราคาน้ำมันพุ่ง 


          ประเด็นที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าแบบระบุชื่อผู้ขับขี่ เพื่อปรับอัตราค่าเบี้ยให้เป็นไปตามพฤติกรรม ระบุได้สูงสุดที่ 5 คน แต่อันนี้ไม่บังคับนะครับ ส่วนนี้ก็เพื่อวัตถุประสงค์คือให้สามารถกำหนดเบี้ยประกันภัยสอดคล้องกับพฤติกรรมและความสามารถของผู้ขับขี่มากยิ่งขึ้น ถ้าผู้ขับขี่รถดีไม่มีอุบัติเหตุ จะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยมากขึ้นตามลำดับ (สูงสุด 40%) โดยได้กำหนดปัจจัยพฤติกรรมของผู้ขับขี่เป็นระดับความเสี่ยง 5 ระดับ ขับดีได้ส่วนลดดี ขับร้ายได้เพิ่มเบี้ยแน่คร้าบบบ


          ประเด็นที่ 2 การให้ความคุ้มครองแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารวมอยู่กับตัวรถ กรมธรรม์ประกันภัยนี้กำหนดให้ความคุ้มครองของแบตเตอรี่รวมอยู่กับตัวรถยนต์ด้วย แต่เนื่องจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้านั้นมีมูลค่าสูง เกินกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่ารถยนต์ จึงต้องมีการกำหนดมูลค่าของค่าเสื่อมให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจึงได้มีการปรับอัตราการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยเทียบเคียงกับมูลค่าของรถยนต์สันดาปไปก่อน รวมถึงได้มีการจัดทำ เอกสารแนบท้ายความคุ้มครองความเสียหายต่อแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแบบชดใช้ของใหม่ทดแทนของเดิม หรือแบบ Replacement เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่ต้องการซื้อความคุ้มครองเพื่อให้บริษัทชดใช้ความเสียหายของแบตเตอรี่โดยการเปลี่ยนเป็นแบตเตอรี่ใหม่ (เช่น เราเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ ก็ขอปรับความคุ้มครองเพิ่มได้ รวมทั้งซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมของที่ชาร์จ EV ได้ด้วย)


          ประเด็นที่ 3 เงื่อนไขการเอารถยนต์ไฟฟ้าเข้าซ่อม ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้การรับรองเท่านั้น การให้ความคุ้มครองต่อระบบปฏิบัติการรถยนต์ไฟฟ้านั้นประกอบด้วยระบบไฟฟ้าที่ค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้น การซ่อมแซมหรือดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องกระทำการโดยช่างของผู้ผลิตรถยนต์ ผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า หรือช่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการซ่อมจากหน่วยงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือช่างที่ได้รับความยินยอมจากบริษัทเท่านั้น ในกรณีระบบปฏิบัติการของรถมีการทำงานบกพร่อง ผิดพลาดทำให้รถเกิดอุบัติเหตุ มีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอก หรือต่อรถยนต์ ความรับผิดชอบส่วนนี้เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของผู้ผลิตรถยนต์หรือผู้ที่กระทำการดัดแปลงแก้ไขระบบปฏิบัติงาน แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการให้ความคุ้มครอง กรมธรรม์ประกันภัยนี้จะกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทประกันภัยต้องให้ความคุ้มครองก่อน แล้วสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเรียกคืนความเสียหายนั้นจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หรือผู้ที่ต้องรับผิดต่อไปได้ ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยจะไม่รับผิดชอบกรณีมีการปรับแต่งซอฟท์แวร์ หรืออฮาร์ดแวร์ ที่ผิดจากคำแนะนำของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้น ๆ

ความเชี่ยวชาญในการผลิต

          ประเด็นที่ 4 การกำหนดพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัย ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ เบี้ยประกันภัยของรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉลี่ยนั้นจะสูงกว่าอัตราเบี้ยประกันภัยของรถยนต์สันดาป เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10-15% ซึ่งเป็นผลมาจากค่าแรง ค่าอะไหล่ของรถยนต์ไฟฟ้าที่สูงกว่า แต่ด้วยความนิยมใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าที่มีมากขึ้น จึงคาดหวังได้ว่าในอนาคตอันใกล้อาจมีการพัฒนาบุคลากรและฝีมือ มีเทคโนโลยี รวมถึงผู้เชี่ยวชาญหรือแรงงานที่มีความรู้ความสามารถในด้านการผลิตและการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้อัตราเบี้ยประกันภัยลดลงได้ในอนาคต เนื่องจากไม่ต้องนำเข้าอะไหล่ ชิ้นส่วนอีกต่อไป

          แต่ที่ขาดไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถยนต์พลังงานน้ำมัน ก็คือ ประกันรถยนต์ต้องไม่หมดอายุพราะว่าเมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น การรับผิดชอบ หรือการรับกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าต่อรถเรา หรือต่อบุคคลภายนอก จะได้มีความคุ้มครองต่าง ๆ มาช่วยแบ่งเบา นะคร้าบบบบ
          หากสนใจประกันภัยรถยนต์ไม่ว่ารุ่นใด ปีไหน ทาง TT Insurance Broker พร้อมให้บริการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องความคุ้มครองหรือเงื่อนไขการทำประกันภัย สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัยรถยนต์ของ TTIB ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ช่องทางการติดต่อ Facebook page: TT Insurance Broker, Line official @TTIB หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-4848 วันจันทร์-ศุกร์ในเวลาทำการ 08.30-17.00 น.

ที่มาข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
แชร์โพสต์นี้

To install this Web App in your iPhone/iPad press and then Add to Home Screen.

Added to cart